แอปพลิเคชันที่ต้องมี ในโลกยุคดิจิทัลของเราสมัยนี้

ในโลกยุคดิจิทัล ขอแค่มีโทรศัพท์มือถือ ชีวิตก็เหมือนติดปีก ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ดูโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ย้อนหลังบน YouTube เรียนหลักสูตรที่สนใจ ติดตามสภาพอากาศ หรือแม้กระทั่ง chat หาคู่ ฯลฯ

ความสะดวกสบายบนปลายนิ้วเหล่านี้เปลี่ยนชีวิตของเราอย่างไร อาจารย์ นิสิต และบุคลากรจุฬาฯ จะมาแบ่งปันแนวทางปรับตัวสู่ชีวิตดิจิทัล และแอปพลิเคชันคู่ใจที่ใช้เป็นประจำ

ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ

“โลกดิจิทัลเต็มไปด้วยข้อมูลที่มาจากหลากหลายแหล่ง ทุกคนจึงต้องมี Digital social responsibility กลั่นกรองและทำความเข้าใจถึงความถูกต้องและความมีจริยธรรมก่อนที่จะเชื่อ ทำตามหรือส่งต่อไปยังผู้อื่น ไม่ส่งข้อความที่ไม่แน่ใจหรือล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ซึ่งในเรื่องนี้ เราอาจ cross check ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้รับมาทาง Social media ไม่ว่าจะเป็น Twitter Facebook หรือ LINE โดยเปิดรับข้อมูลจากหลากหลายสื่อออนไลน์ และแอปพลิเคชันต่างๆ”

ผศ.ดร.ปาลนี อัมรานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ

“สิ่งที่ต้องทำคือเปิดใจรับสิ่งใหม่และปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันยุค นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการเรียนการสอน การทำงาน การสื่อสาร และการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ในส่วนไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ก็ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น อย่าง App Google Calendar ที่ช่วยในการนัดหมาย และ App LINE ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ”

ดร.ภัทรชาติ โกมลกิติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ

“Work Life Balance เป็นเรื่องพึงระวังในยุคดิจิทัล เราอยู่กับเครื่องมือสื่อสารตลอด 24 ชั่วโมง และสื่อสารกับผู้คนผ่านระบบต่างๆ แทนการพบหน้ากัน จึงจำเป็นที่เราต้องสร้างขอบเขตให้ตนเองและผู้อื่นบ้าง เช่น ไม่ตามงานคนอื่นในช่วงวันหยุดวันเสาร์ – อาทิตย์ โดยไม่จำเป็น มิเช่นนั้นชีวิตเราจะปนเปกันไปหมดทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว ส่วนข้อดีของยุคนี้คือแอปพลิเคชันใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน อย่างช่วงที่เกิดวิกฤติฝุ่น PM2.5 มหาวิทยาลัยประกาศปิด อาจารย์หลายท่าน อัด video การสอนจากที่บ้านและ upload ขึ้นบน App ECHO 360 โดยนิสิตสามารถถามตอบได้เหมือนเรียนในห้องเรียน”

ณัฐชยา พลยิ่ง นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

“วิธีการปรับตัวที่ง่ายที่สุดคือยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง เปิดตา เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เท่าทันเทคโนโลยีและใช้วิจารณญาณไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจกระทำการใด ๆ ในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ พึ่งพาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Wunderlist เป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทำงาน เหมือน schedule บนมือถือ ทำให้สะดวกในการแจ้งเตือนเราในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยที่สามารถเชื่อมต่อกับ E- mail ได้ด้วย”

คุณรุ่งโรจน์ กิตติถาวรกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ จุฬาฯ

“ในยุคดิจิทัล รูปแบบชีวิตของเราเปลี่ยนไป โดยแอปพลิเคชันเข้ามาช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน เช่น Sleep Cycle วิเคราะห์ช่วงเวลาปลุกให้เหมาะสม Moves ช่วยในการนับก้าวเดิน Google Keep และ Evernote Scannable ที่จะช่วยให้เรามี mobile office ส่วนตัว Tap & Say แอปพลิเคชันนี้พูดแปลภาษากว่า 11 ภาษา XE Currency แปลงค่าเงินตามอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงนั้นอัตโนมัติ Tide ที่จะช่วยสร้างเสียงธรรมชาติ และฝึกลมหายใจให้รู้สึกผ่อนคลายกับการนอนและที่จะลืมไม่ได้ CU NEX ที่ช่วยให้การใช้ชีวิตทั้งในและนอกรั้วจุฬาฯ มีความสะดวกสบาย รวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย”

mublet